SOP ชิ้นหนึ่งจะต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้
1. ย่อหน้าแรกควรจะ “ดึงความสนใจ” ของผู้อ่านทันที
ทำไม: อย่าลืมว่าฝ่าย admission ของทางมหาวิทยาลัยอ่าน SOP อย่างที่คุณเขียนอยู่ปีหนึ่งเป็นพันฉบับ เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณเขียนจะต้อง “น่าสนใจ” และถ้าทำได้ “น่าติดตาม” เพื่อให้เขาอ่านต่อไปเรื่อยๆ หลักการเลือกของมหาวิทยาลัย ปรกติแล้วจะดึงผู้สมัครที่ academic requirement หรือเกรดถึงออกมาก่อน ตัวนี้อาจจะหมายถึงแค่เกรด หรือรวมไปถึงระดับภาษาอังกฤษด้วย ขึ้นอยู่กับมหาลัย แต่หลังจากที่คุณได้ผ่านเข้ามาด้วยเกรด (หรือกิจกรรมทีดีมากจนสามารถคานกับเกรดที่ไม่ถึงเกณฑ์ได้) ก็ต้องแข่งกันที่ “ลักษณะนิสัย” “ความตั้งใจ” ของผู้สมัครอย่างที่ปรากฏใน SOP
ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร
วิธีที่ง่ายและตรงตัวที่สุดคือการเขียนเล่าเรื่องที่มาที่ไปของความสนใจในการเรียนต่อนี้ บอกเลยว่าเกิดอะไรขึ้นตอนเด็ก (หรือตอนไหนก็แล้วแต่ของชีวิต) ที่เป็นจุดผันให้สนใจที่จะศึกษาต่อเรื่องการจัดการ ตรงนี้ต้องระวังให้มาก ถ้าให้ดีควรพูดว่าทำไม และเมื่อไหร่ ที่คุณเริ่มสนใจจะศึกษาต่อด้านนี้ ข้อผิดพลาดที่เจอบ่อยคือ เขียนสั้นๆ ว่า ที่บ้านทำธุรกิจนี้ เลยอยากทำต่อ ... ซึ่งก็ใช้ได้ แต่แค่พอถูไถ ถ้าอยากทำให้ดี วิเคราะห์ว่าจากการศึกษาสภาพธุรกิจที่บ้านแล้ว คิดว่าการที่เรามาเรียนต่อนี้สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างไร หรือสามารถแก้ปัญหาที่บ้านได้อย่างไร จุดประสงค์ของย่อหน้านี้ คือ การแสดงความสนใจอย่างแรงกล้าของเราที่จะศึกษาต่อ อธิบายถึงความมุ่งมั่นของเรา ยิ่งมีความตั้งใจชัดเท่าไหร่ ทางมหาวิทยาลัยจะรู้สึกว่ามีโอกาสที่นักเรียนคนนี้จะเป็นนักเรียนที่ดี ที่ประสบความสำเร็จ และทำให้การพูดคุยวิเคราะห์ในห้องมีคุณภาพยิ่งขึ้น อย่าลืมว่านี่คือ introduction จะคิดวิเคราะห์อะไรก็ใส่แต่ประเด็นหลักเอาไว้ หย่อนๆ เป็น teaser ทำให้ดูน่าสนใจ น่าอ่านต่อ รายละเอียดของการวิเคราะห์นี้จะเอามาขยายกันที่ย่อหน้าที่สอง
ที่สำคัญ จุดนี้คือจุดที่ควรคิดหนักที่สุดก็เขียน คิดด้วยว่าเขาต้องการคนแบบไหน บางคนเขียนมาดื้อๆ ว่าอยากเรียนอันนี้เพราะคิดว่าเรียนแล้วรวยแน่ๆ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ดูไม่มีชั้นเชิงและขาดทักษะในการสื่อสารมาก ควรแจกแจงให้ละเอียดว่าทำไมเรียนวิชานี้แล้วน่าจะมีอนาคตดี เพราะอะไร บอกมาเป็นข้อๆ การแสดงความสามารถในการเขียน การจัดลำดับก็สำคัญ ถ้าเขียนวนไปวนมาตั้งแต่ย่อหน้าแรกก็จะลำบากมาก
2. ย่อหน้าที่สองกับสามนี้สามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครรู้สึกว่ารอยต่อระหว่างย่อหน้ามันลื่นดีไหม อ่านแล้วสะดุดหรือไม่ ขอแนะนำให้อธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมคุณถึงสนใจเรียนคณะนี้ ที่สำคัญ ระวังอย่าให้ดูซ้ำซ้อนเกินไปกับย่อหน้าแรก ท่องเอาไว้ ย่อหน้าแรก คือ เกริ่น คือคำโปรยหน้าปก คือ trailer หนัง ย่อหน้าที่สองคือ การฉายหนังของจริง เขียนให้ละเอียด แต่ขณะเดียวจะต้องกะทัดรัด ได้ใจความ คั้นน้ำออกไปให้มากที่สุด ประโยคไหนที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้ช่วยส่งเสริมตัวผู้สมัครในด้านไหนเลย เอาออกเสีย นี่คือจุดที่ขยายความเพิ่มเติมว่าด้วยพื้นหลังแบบไหน และประสบการณ์แบบไหนที่ทำให้คุณสนใจจะเข้าเรียนทีนี่ เมื่ออธิบายข้อแรกเสร็จ แล้วเปิดประเด็นที่สอง อธิบายให้ว่าทำไมคุณถึงมีคุณลักษณะที่ดี สามารถเป็นผู้สมัครได้ ผู้ให้ชัดว่ามีประสบการณ์ทำอะไรมาบ้าง เคยโต้วาทีไหม เคยเขียนบทความให้ทางคณะไหม อย่าสักแต่เขียนว่า I did volunteering บอกเลยว่าทำงานอาสาด้านไหน ไปมาครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร เน้นว่าเราได้ทำอะไร ได้เรียนรู้อะไร และประสบการณ์นี้ส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไหรบ้าง นอกจากเรื่องความรู้ทั่วไปในห้องแล้ว ถ้าจำเป็น (ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา) ก็ขายทักษะต่างๆ ที่มาจากกิจกรรมด้วย คล่องแคล่วเรื่องการสื่อสารหรือเปล่า? ดี ทำให้ได้เปรียบเวลาเรียนธุรกิจ เคยไปแลกเปลี่ยนที่ไหน เป็นคนเดินทางบ่อยไหม ถ้าเดินทางบ่อย อาจสามารถเราได้ถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างที่เคยเห็น ทำให้เราเป็นคนหูตากว้างไกล เขียนให้ชัดเจน ถ้าจบมหาลัยดี เขียนเลยว่าเป็นอันดับที่เท่าไหร่ของประเทศไทย ท็อปแค่ไหน คนรู้จักแค่ไหน เอาให้เขาไม่มีคำถามเหลือเรื่อง qualification จุดนี้เป็นอิสระบ้าง คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่น เขียนไป แต่เขียนให้ดูมีน้ำหนัก ที่เจอพลาดบ่อยคือเขียนว่า I’m enthusiastic, and a hard worker เขียนหลักฐานมายันว่านี่ไม่ใช่คำคุย บอกเลยว่า อย่างที่เห็นจากเกรด เป็นคนทำงานหนัก อย่างที่เห็นจากลิสต์กิจกรรมที่ยาวเฟื้อย เป็นคนจัดเวลาเก่ง เป็นต้น
สรุป ย่อหน้าที่สองค่อนข้างขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัคร สามารถพูดถึงแรงบันดาลใจอย่างละเอียดได้ รวมไปถึงจุดเด่น หรือเอกลักษณ์ของตนที่ทำให้ฝ่าย admission ต้องรับคุณเข้า ตอนเขียน ให้โฟกัสว่า “อะไร” บ้างที่คุณมี แต่คนอื่น (หรือผู้สมัครส่วนมาก) ไม่มี อย่าลืมว่า แม้แต่การพูดถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน หรือการเติบโตในประเทศไทย ที่ซึ่งสร้างรากฐานเศรษฐกิจมากับการท่องเที่ยวและการเกษตร ก็สามารถเป็นจุดที่ทำให้คุณแตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้นอื่นๆ ได้
หมายเหตุสอง ถ้า participated ในงานมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ต้องเขียนมา ยกเว้นว่าได้รับเลือก ถ้าได้รับเลือก บอกด้วยว่าจากกี่คน เป็นตัวแทนหรืออย่างไร คัดเลือกมาด้วยเกณฑ์อะไร ที่เจอบ่อยคือเขียนว่าเข้าร่วมวันไหว้ครู เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง อย่าลืมสภาพสังคมของฝ่าย admission เขารู้หรือว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร เขาเห็นค่ามันหรือเปล่า โดยทั่วไปแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถดึงความสนใจคนต่างชาติได้ ลักษณะนิสัยก็เหมือนกัน บางคนพยายามนำเสนอตัวเองเหมือนเวลานำเสนอให้ผู้ใหญ่ไทย เขียนว่าเป็นคนว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังคำสอน ดูจากลักษณะนิสัยของคนประเทศที่เราจะสมัครแล้ว (อังกฤษ อเมริกัน เป็นต้น) เขาจะเห็นว่านี่เป็นเรื่องดีหรือไม่?
3. ย่อหน้าที่สาม ควรพูดถึงว่าทำไมคณะนี้ ที่มหาวิทยาลัยนี้ถึงเหมาะกับเรา คนส่วนมากชอบรวบยอดไปอยู่ตอนท้ายใน conclusion แต่ถ้ามีพื้นที่ แล้วไม่แน่ใจว่าจะเขียนอะไร ลองพูดถึงสิ่งที่ผลักดันให้เราพุ่งความสนใจมาที่มหาวิทยาลัยนี้ ภาควิชานี้น่าสนใจ เพราะหลักสูตรเป็นการผสมผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับกฎหมาย ซึ่งเป็นเนื้อหาที่แปลกใหม่ และยังไม่ใคร่มีคนรู้จักนัก คิดว่าการเรียนวิชานี้จะช่วยเปิดหูเปิดตา และทำให้ผู้สมัครสามารถทำงาน/ ทำตามฝัน/อื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญ ต้องบอกด้วยว่าเพราะอะไร ทุกอย่างที่พูด ควรมีหลักฐานว่าทำไมเราถึงเขียนเช่นนี้ คิดเช่นนี้ จะทำให้ดุเป็นคนเหตุมีผล และเนื้อหาแลดูมีน้ำหนัก จุดนี้ควรศึกษาเกี่ยวกับตัววิชาของมหาวิทยาลัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถ้ามีเวลา ควรอ่านเรื่องของอาจารย์ ระบุไปเลยว่าผลงานใครเข้าตาผู้สมัคร อยากทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ทำกับใคร เพื่อที่จบมาจะได้ทำอะไรต่อ เขียนให้กลมกลืนเลยว่าการศึกษาที่มหาลัยนี้เหมาะกับเป้าหมายเราอย่างไร ทำไมถึงเหมาะ และเป้าหมายเราสำคัญอย่างไร
4. สรุป ย่อหน้านี้เป็นย่อหน้าที่ผู้สมัครเริ่มผ่อนคลายได้ สิ่งที่ย่อหน้านี้จะต้องทำคือ สรุปใจความหลักของทุกย่อหน้าที่ผ่านมา ย้ำเตือนฝ่าย Admission ว่าเขาอ่านอะไรไป และอะไรคือประหลักที่เราอยากให้เขาจำได้เมื่อเขาวางมือจาก sop ของเราไปอ่านของคนอื่นต่อ วิธีจบมีหลายแบบ จบด้วย motto ดีๆ จบธรรมดาด้วยการขอบคุณสำหรับเวลา หรือจบอย่างชัดเจนไปเลยว่า Looking forward to see you in the upcoming academic trimester ก็ได้
หากทำตามแนวทางดังที่กล่าวมา เรามีความเชื่อว่า Statement of Purpose ของคุณน่าจะเป็นบทความที่น่าสนใจของคณะกรรมการที่รับสมัคร เมื่อรู้ว่า SOP คืออะไรแล้ว ก็คงไม่ยากที่จะเตรียมข้อมูลอย่างไร ขอให้โชคดีทุกคนครับ
ดูตัวอย่างการเขียน SOP ได้ที่ ตัวอย่าง Statement of Purpose คลิก
ดู ตัวอย่างการเขียนจดหมายแนะนำ Letter of recommendation คลิก